Earth 🌎 + 
Por ui Duangjun, 2019, Video 5.08 min
ยาสูบ เสื้อพุทธัง ดังก้องฟ้า ธัมมังกังก้องใจ สังฆังดังตลอดชัย...
เรื่องราวความประทับใจของผมและคุณปู่อายุ 96 ปีชื่อพ่ออุ้ยดวงจันทร์ ผู้อุปฐากของวัดป่าผาแด่น อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ในทุกๆเช้าพ่ออุ้ยจะคอยนำอาหารที่พระได้จากการบิณฑบาตรในหมู่บ้าน นำมาส่งให้ที่วัดและนำอาหารที่ได้มาต้มรวมกันเพื่อให้เป็นอาหารสุกสะอาดแล้วนำถวายพระ ภาษาเหนือเรียกว่า "แกงโฮ๊ะ" ซึ่งชาวบ้านในหมู่บ้านผาแด่นนี้จะทำอาหารลักษณะนี้เป็นเรื่องปกติทั่วไป คือจะก่อไฟแล้วอุ่นอาหารตลอดเวลา ได้อาหารมาหรืออาหารเหลือก็นำมาใส่หม้อไว้ เนื่องจากหมู่บ้านเป็นที่ห่างไกลจากตัวเมืองค่อนข้างมาก ทำให้คนหมู่บ้านผาแด่นต้องใช้วิถีนี้ในการถนอมอาหารด้วยเช่นกัน
พ่ออุ้ยดวงจันทร์ทำเช่นนี้มาตั้งแต่สมัยหนุ่มจน ปัจจุบันท่านเริ่มเดินไม่ค่อยไหวแล้ว แต่พ่ออุ้ยก็ยังคงพยายามทำเช่นนี้ทุกๆวัน เรื่องราวที่ผมได้เรียนรู้มานั้น ทำให้มองย้อนกลับมาที่ตัวเอง ทั้งวัย ร่างกาย และจิตใจ ทำให้ทัศนะเรื่องของชีวิตนั้นเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก ความเรียบง่าย จากการสังเหตุวิถีชีวิตที่สอดคล้องไปกับธรรมชาติ ที่ตัวผมนั้นไม่ค่อยได้สัมผัส จากการเกิดและเติบโตในสังคมเมือง ทั้งหมดก่อเกิดคำถามที่ว่าเดิมๆ  เราเติบโตมาเพื่ออะไร เรากินเพื่ออะไร เรามีชีวิตเพื่อแสวงหาสิ่งใด

Screenshot of VDO

Screenshot of VDO

Screenshot of VDO

Screenshot of VDO

Screenshot of VDO

ประวัติ วัดป่าผาแด่น
ในหนังสืออนุสรณ์งานประชุมเพลิงศพ หลวงปู่คำผอง กุสลธโร ได้เล่าถึงประวัติของวัดป่าผาแด่นไว้ดังนี้
วัดป่าผาแด่น หรือบางครั้งก็เรียกว่าวัดป่าบ้านยาง ตั้งอยู่ที่บ้านผาแด่น ต.สันป่ายาง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ บนเทือกเขากลางป่าในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ดอยปุย ชาวบ้านผาแด่นเป็นชาวกะเหรี่ยง ซึ่งคนเชียงใหม่จะเรียกว่า ชาวยาง หลวงปู่คำผองได้เล่าถึงมูลเหตุของการสร้างวัดป่าผาแด่นว่า เมื่อครั้งที่หลวงปู่ชอบ ฐานสโม ยังเที่ยวธุดงค์อยู่ทางภาคเหนือนั้น คราวหนึ่งท่านมาจำพรรษาอยู่ที่ป่าข้างวัดสันป่าตึง อ. แม่ริม จ.เชียงใหม่ ซึ่งวัดนั้นมีหลวงปู่ทิอยู่องค์เดียว หลวงปู่ชอบระลึกชาติได้ว่าท่านกับหลวงปู่ทิ เคยเกิดเป็นสหายกันมาก่อนในอดีต (คล้ายกับกรณีของพ่อเชียงหมุน) จึงได้มาอยู่ช่วยเหลือกัน เพราะตอนมาพักอยู่ช่วงแรก ๆ มีเจ้าคณะตำบลฝ่ายมหานิกายมาขับไล่ไม่ให้หลวงปู่ชอบอยู่ แต่ได้อาศัยหลวงปู่ทิ ซึ่งเป็นพระมหานิกายเหมือนกันช่วยเจรจาขอเอาไว้ได้ ตอนเย็นหลังจากเสร็จกิจวัตรแล้ว หลวงปู่ทิจะเดินมาศึกษาธรรมะกับหลวงปู่ชอบทุกวัน ท่านจึงมีความสนิทสนมกันมาก ดังนั้นหลวงปู่ชอบท่านจึงมาพักอยู่ที่วัดสันป่าตึงอยู่บ่อยๆ เมื่อมาวิเวกทางเชียงใหม่ แม้เมื่อเข้าสู่วัยชราภาพแล้ว เมื่อหลวงปู่ชอบไปเชียงใหม่ ก็จะแวะไปเยี่ยมหลวงปู่ทิเสมอ และเมื่อถึงวันงานวันเกิดหลวงปู่ชอบที่วัดป่าโคกมน จ.เลย หลวงปู่ทิก็มักจะไปร่วมงานอยู่เสมอ ๆ และหลวงปู่ทิก็มรณภาพภายหลังหลวงปู่ชอบ ซึ่งมรณภาพเมื่อต้นปี 2538 เพียงไม่กี่เดือน
วันหนึ่งโยมเสา ซึ่งเป็นชาวยาง(กะเหรี่ยง) อยู่ที่บ้านผาแด่น ลงเขามาทำบุญใส่บาตรที่วัดสันป่าตึง หลวงปู่ชอบซึ่งบังเอิญพักอยู่ที่นั่นพอดี จึงได้พบกับโยมเสาที่ท่านตามหามานาน เนื่องจากท่านระลึกชาติได้ว่ามีผู้ที่เคยเกิดเป็นพี่ชายของท่านในอดีตชาติมาเกิดอยู่ในชาติปัจจุบัน ท่านจึงตามหาไปทั่วเพราะหวังว่าจะได้ช่วยเหลือสงเคราะห์กันเป็นชาติสุดท้าย ท่านจึงมาตั้งวัดป่าผาแด่นขึ้นที่บ้านผาแด่น เมื่อ พ.ศ. 2492 เพื่อมาอยู่สงเคราะห์โยมเสานี้เอง ต่อมาโยมเสานี้ก็ได้บวช แต่ไม่นานก็สึก สุดท้ายหลวงปู่ชอบก็ให้บวชอีก และกลับมาจำพรรษาและมรณภาพที่วัดป่าผาแด่นนี้เอง
คราวหนึ่งหลวงปู่ชอบ เดินลงเขาจากวัดป่าผาแด่น เพื่อไปเยี่ยมหลวงปู่ทิ โดยมีโยมเสาตามมาด้วย เมื่อมาถึงลำน้ำแม่ริม ปรากฏว่ากระแสน้ำเชี่ยวมาก ไหลบ่าอย่างรุนแรง ไม่สามารถข้ามได้ หลวงปู่ท่านจึงยืนพิจารณานิ่งๆอยู่สักพัก น้ำที่ไหลเชี่ยวกรากกลับแห้งหายไปเฉย ๆ ท่านก็เดินข้ามไป แล้วหันมาเรียกโยมเสาให้รีบเดินข้าม ฝ่ายโยมเสาซึ่งแก่แล้วก็กลัวว่าน้ำจะกลับมาพัดเอาตัวแกไปจึงไม่กล้าข้าม แต่เมื่อหลวงปู่เร่งรัดจึงเดินข้ามไป แล้วน้ำก็ไหลซู่ ๆ เหมือนเดิม เป็นที่น่าอัศจรรย์
ในปี พ.ศ. 2492และ 2493 หลวงปู่ชอบ ฐานสโม จำพรรษาที่วัดป่าผาแด่น เฉพาะปีพ.ศ. 2493 หลวงปู่บุญฤทธิ์ ปัณฑิโต ได้มาจำพรรษาด้วย โดยอยู่กันเพียง 2 องค์ หลวงปู่บุญฤทธิ์ ปัณฑิโต ได้เล่าถึงความลำบากของการเดินทางและการอยู่จำพรรษาที่วัดป่าผาแด่นดังที่มีปรากฏในหนังสือประวัติของท่านดังนี้
…จากวัดบรมนิวาส อาตมาก็รีบกลับวัดดวงแข หัวลำโพง ตอนนั้นใกล้เข้าพรรษาแล้ว ก็รีบไปลาเจ้าอาวาส เรียนว่าจะพยายามไปตามหาพระอาจารย์ชอบ ท่านเจ้าอาวาสก็ห้ามว่า “บุญฤทธิ์ เดี๋ยวก็ได้หามออกมาดอก” อาตมาไม่เชื่อใครหรอกตอนนั้น รีบลาออกเดินทางไป ไปตอนแรกไปพักอยู่วัดแม่ริม เชียงใหม่ ที่แม่ริมได้พบท่านพระอาจารย์ตื้อ (หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม) ท่านอาจารย์ตื้อก็ห้ามไว้ แต่อาตมาก็ไม่ฟัง จนไปถึงวัดที่ห้วยน้ำริน ได้กราบท่านอาจารย์แหวน (หลวงปู่แหวน สุจิณโณ) ท่านก็ห้ามไว้ว่าลำบากมากทางไป แต่อาตมาตั้งใจแน่วแน่แล้วก็ไปต่อไป
เช้าก็จ้างเขาหามของ บุกไปนี่ พื้นดินเป็นแต่ขี้โคลนครึ่งเข่า เดินขึ้นเขาสูงครึ่งวัน พอดีมีนมข้นติดไปครึ่งกระป๋อง ทั้งวันจะหารอยเท้าคน รอยเท้าสัตว์ไม่มีเลย ทางไปลำบากมาก วนเดินหลงป่าอยู่ 2 หน ไปถึงวัดหลวงปู่ชอบ (วัดป่าผาแด่น)เอาเกือบค่ำ แอบบ่นในใจว่า “แหม ท่านอาจารย์ทำไมมาอยู่ที่ยากอย่างนี้หนอ” จริงๆแล้วอาตมากะไปถึงให้พอดี คือรุ่งขึ้นเป็นวันเข้าพรรษา เป็นการบังคับตัวเอง เปลี่ยนใจไม่ได้แล้ว พอไปถึงก็จุดเทียนอธิษฐาน ขอจำพรรษาบนเขาสูง ที่วัดป่าบ้านยางผาแด่นกับท่านอาจารย์ชอบ
พอรุ่งขึ้นเช้านั้นเอง โอ๊ย.. (หัวเราะ) เจอกับข้าวยางแท้ๆเลยคุณโยม เฉพาะอย่างยิ่งอะไรไม่รู้เหมือนขี้ควาย มันเละๆ ..ก็คือใบบอนตำใส่น้ำกับเกลือ พอตักใส่ปากฉัน อาตมาท้องร่วงทุกวันอยู่ 1 เดือน ยาแก้ท้องเสีย ยาอะไรที่ติดตัวไปกินหมดขวดก็ไม่ได้ผล วันหนึ่งก็ว่าไม่ไปบิณฑบาตแล้ว ก็พอดีพวกยางเกิดเอาเนื้อไก่มาถวายหลวงปูชอบ (ตามปกติพวกกะเหรี่ยงจะไม่กินเนื้อสัตว์ ถ้าวันไหนมีหมู มีเนื้อ มีไก่ แสดงว่ามีงานถวายผีหรือแต่งงาน) แต่หลวงปู่ชอบท่านไม่ฉัน “ให้เอาถวายท่านบุญฤทธิ์” โอ…พอฉันเนื้อไก่ที่หลวงปู่ชอบเมตตาให้แล้ว หาย…หายท้องร่วงทันที หายเด็ดขาดเลย……
….ที่วัดบ้านยางผาแด่นนี้อยู่บนสันเขาสูง เป็นป่า กลางคืนมีเสียงน่ากลัวเยอะ มีเสียงแปลกๆเสมอ ตกลงปีนั้น(2493)ก็จำพรรษาอยู่กับหลวงปู่ชอบท่าน 2 องค์เท่านั้น…
หลวงปู่บุญฤทธิ์ได้อยู่จำพรรษาที่วัดป่าผาแด่นติดต่อกัน 4 พรรษา คือตั้งแต่ พ.ศ. 2493 – 2496 โดยในปี พ.ศ. 2494 ท่านพระอาจารย์ลี ธัมมธโร (ภายหลังท่านมาอยู่ที่วัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ) ได้มาจำพรรษาด้วย ดังที่ปรากฏในหนังสือชีวประวัติพระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (พระอาจารย์ลี ธัมมธโร) ดังนี้
…เวลาจวนเข้าพรรษา ได้ออกเดินทางไปพักที่อำเภอแม่ริม ตั้งใจจะเดินทางเข้าป่าลึก และได้ออกเดินทางจากอำเภอแม่ริมถึงบ้านป่าตึง ใช้เวลา 1 วัน ต่อจากนั้นได้เดินทางเข้าดงลึก ไม่มีบ้านคนเลย ขึ้นเขาลงห้วย เข้าไปในดงใหญ่ ไปถึงที่นั่นบ่าย ราวไม่เกิน 4 โมงเย็น สถานที่นี้มีลูกศิษย์เคยไปจำพรรษา ปีนั้นได้จำพรรษาอยู่ที่นั่น เป็นหมู่บ้านยางและกะเหรี่ยง มีประมาณ 6-7 หลังคาเรือน ไม่มีที่ราบ มีแต่ภูเขาทั้งนั้น ที่พักเป็นชานเขาเล็กๆ ห่างบ้านประมาณ 20 เส้น มีทางน้ำไหล อากาศหนาวจัดทั้งกลางวันและกลางคืน ได้เดินทางไปถึงเป็นวัน 14 ค่ำ เดือน 8 พอถึงวันอธิษฐานเข้าพรรษาก็มีอาการเริ่มป่วยเป็นไข้ ในสถานที่นี้กันดารที่สุด ชาวบ้านเป็นคนป่าคนดง อาหารเป็นพื้นในพรรษานี้ มีเกลือ พริก และข้าวเท่านั้น เนื้อและของคาวไม่มีใครนิยมกิน…
…ในสถานที่นี้หนาวจัด แม้แต่เกลือในกระบอก ถ้าปิดไม่แน่นก็ละลายเป็นน้ำหมด อาหารที่ฉันในพรรษานี้เป็นอาหารชาวป่า คือ หน่อไม้ ใบบอน รากบอน ต้มให้เละ กวนให้เหลว เอาเกลือเอาข้าวใส่ พริกขี้หนูตำใส่ทั้งก้านทั้งใบ เอาลงกวนในหม้อแกง กินอย่างนี้ตามภาษาพื้นบ้านของเขา ตั้งแต่บวชมาในชีวิต เรื่องอาหารพรรษานี้เป็นยอดความกันดาร พริกก็แปลก เวลากลืนลงเผ็ดถึงลำไส้ แต่ดูร่างกายชาวบ้านอ้วนใหญ่โต คนป่านึกว่าจะดำปี๋ กลายเป็นคนขาวอ้วน มีวัฒนธรรมดีน่าเลื่อมใส คือ ไม่มีการทะเลาะ ไม่เอะอะเสียงดังในหมู่บ้าน ไม่ยอมใช้ของในตลาด โดยมากใช้ของที่ทำขึ้นเอง ทำไร่เป็นอาชีพ เพราะไม่พื้นที่แผ่นดินราบ…
หลวงปู่บุญฤทธิ์ ปัณฑิโต ได้กลับมาจำพรรษาที่วัดป่าผาแด่นอีกครั้ง ในปี พ.ศ.2502 และได้จำพรรษาติดกันถึง 5 พรรษา จนออกพรรษา พ.ศ. 2506 จึงได้เดินทางออกจากวัดป่าผาแด่นไปจำพรรษาที่วัดป่าบ้านบง อ.ภูเรือ จ.เลย
ปี พ.ศ. 2510 หลวงปู่คำผอง กุสลธโร ได้มาจำพรรษาที่วัดป่าผาแด่นเป็นครั้งแรก ร่วมกับหลวงปู่บุญพิน กตปุญโญ หลังจากนั้นหลวงปู่คำผองพิจารณาเห็นว่าที่นี่เป็นวัดเดิมของครูบาอาจารย์ของท่าน คือหลวงปู่ชอบ ฐานสโม จึงไม่อยากจะปล่อยทิ้งร้างไม่มีคนดูแล จึงได้มาอยู่จำพรรษาที่นี่ตลอดมา มีบางพรรษาเท่านั้นที่ไปจำพรรษาทางภาคอีสาน แต่ไม่นานก็จะเดินทางกลับมาจำพรรษาที่นี่อีก จนกระทั่งท่านอาพาธใน พ.ศ. 2539 ท่านจึงจำเป็นต้องกลับไปอยู่ที่วัดป่านิโครธาราม บ้านหนองบัวบาน อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี เพื่อรักษาอาการอาพาธ แต่ท่านก็ยังเดินทางกลับมาเยี่ยมวัดป่าผาแด่นบ้างเป็นครั้งคราว
ในสมัยที่หลวงปู่ชอบ ฐานสโม ยังไม่อาพาธเป็นอัมพาต เวลาท่านมาธุดงค์ในเขตเชียงใหม่ ท่านจะมาพักที่วัดนี้อยู่เสมอ แม้เมื่อท่านอาพาธแล้ว ท่านก็ยังให้ลูกศิษย์หามท่านขึ้นจากตีนเขาบุกป่าฝ่าดงมากจนถึงวัดอีกหลายครั้ง โดยเฉพาะปี พ.ศ. 2521 ซึ่งท่านได้พาญาติโยมเดินทางขึ้นมาทำบุญฉลองศาลาหลังปัจจุบัน ซึ่งท่านได้มอบหมายให้หลวงปู่คำผองสร้างขึ้น ตั้งแต่พ.ศ.2520
วัดป่าผาแด่นเป็นวัดที่พระธุดงคกรรมฐานมักจะแวะมาพัก ยามที่มาเที่ยวธุดงค์ในป่าเขาเขต จ.เชียงใหม่ อยู่เสมอ บางปีก็มีพระเถระมาจำพรรษาเพื่อรักษาอาการอาพาธ หรือมาหาความวิเวกทำความเพียรส่วนตัว เช่น ท่านพระอาจารย์คำดี ปัญโญภาโส ท่านพระอาจารย์ขันตี ญาณวโร เป็นต้น และปัจจุบันวัดป่าผาแด่นก็ยังคงสภาพความสงบวิเวก เป็นสัปปายสถานสำหรับการปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์อยู่เช่นเดิม
Back to Top